ตำนาน
ตำนาน หมายถึง เรื่องที่เล่าต่อๆกันมา
เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ บุคคลที่มีลักษณะพิเศษ ปูชนียวัตถุหรือสถานที่สำคัญ
ที่มาของประเพณีหรือพิธีกรรมต่าง ๆ และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชน
ตำนานส่วนใหญ่มักมีเรื่องปาฏิหาริย์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ
การศึกษาตำนานจึงเป็นการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของชนชาติและเรื่องราวหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับชนชาติต่าง
ๆ ในประเทศไทยมีตำนานอยู่มาก เช่น
ตำนานเมืองฟ้าแดดสูงยาง ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ตำนานเรื่องตาม่องล่าย
ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่หลายแห่งในจังหวัดชายทะเลด้านอ่าวไทย ตำนานพระแก้วมรกต
ตำนานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
เปิงซงกราน
อดีตกาลนานมาแล้วนับตั้งแต่ต้นภัทรกัป ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่ง
มั่งคั่งบริบรูณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง จะขาดอยู่ก็แต่ทายาทที่จะรับสืบทอดมรดกมหาศาลนี้เท่านั้น
แต่เศรษฐีก็มิได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแต่ประการใด คิดเสียว่าสักวันหนึ่งก็คงจะสมปรารถนา
จนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดเหตุด้วยนักเลงสุราข้างคฤหาสน์เศรษฐีนั้นเอง
คงจะเมาหนักกว่าปรกติ จึงล่วงล้ำเข้าไปถึงในเขตบ้านท่านเศรษฐี มิหนำซ้ำยังกล่าวถ้อยคำ
เป็นเชิงเยาะเย้ยดูหมิ่นเจ้าของบ้านเสียอีกด้วย เศรษฐีอดรนทนไม่ได้ จึงถามขึ้นว่า
“เจ้านี่เป็นใครกัน อวดดียังไง จึงเข้ามาอาละวาดถึงในบ้านเรา
ไม่รู้รึว่าเราเป็นคหบดี ที่ผู้คนนับหน้าถือตากันทั้งเมือง
เจ้าล่วงล้ำเข้ามาในบ้านแล้ว ยังมากล่าววาจาจ้วงจาบหยาบช้าเอากับเราถึงเพียงนี้”
นักเลงดีตอบอย่างไม่พรั่นพรึงว่า
“กะอีแค่มีสมบัติมากเท่านี้
เราไม่เห็นจะแปลก ท่านร่ำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ก็ดีอยู่หรอก แต่อีกหน่อยท่านก็ต้องตาย
แล้วท่านจะเอาสมบัติพวกนี้ไปได้หรือเปล่าล่ะ ลูกเต้าที่มาสืบทอดมรดก
ทำบุญทำทานไปให้ท่านก็ไม่มีสักคน แล้วสมบัติของท่านนี่จะมีประโยชน์อะไร
เรานี่เสียอีก แม้จะจนแต่เราก็มีลูกชายหน้าตาผิวพรรณหมดจดงดงามถึง 2 คน เราตายไป ลูกเราก็จะดูแลข้าวของเงินทองที่เราทิ้งไว้
ทำบุญส่งไปให้เราได้ ท่านจะมามีดีกว่าเราที่ตรงไหน”
เศรษฐีฟังแล้วถึงแก่อาการอ้ำอึ้ง นึกเห็นคล้อยตามวาจาของนักเลงสุราฝีปากดี
ก็สมบัติมหาศาลนั้นจะมีประโยชน์อันใด เมื่อเจ้าของตายลง คิดแล้วเศรษฐีก็ร้อนรุ่มกลุ้มใจขึ้นมาทันที
ที่เคยไม่สนใจเรื่องทายาทสืบตระกูล ก็ชักจะกระวนกระวายหนัก ถึงขั้นกินไม่ได้
นอนไม่หลับ ครุ่นคิดแต่จะหาทางมีลูกมารับมรดกตกทอดเมื่อตัวตาย
ท่านเศรษฐีพากเพียรพยายามทำพิธีบวงสรวงพระอาทิตย์
และพระจันทร์ อยู่วันแล้ววันเล่า เพื่อขอลูก จนเวลาล่วงเลยไปถึง ๓ ปี ก็ยังไม่สมปรารถนา
จนในที่สุดเห็นว่าพระอาทิตย์พระจันทร์นี้เห็นจะไม่ศักดิ์สิทธิ์แน่ในเรื่องขอลูก
เศรษฐีก็เปลี่ยนผู้รับของบวงสรวงสังเวยใหม่ เมื่อถึงวันนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่
ในวันที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ อันเป็นวันมหาสงกรานต์
เศรษฐีก็บงการบ่าวไพร่ ให้จัดเครื่องบวงสรวงสังเวยพระไทร
ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรใหญ่ริมน้ำ ในการจัดเครื่องบวงสรวงครั้งนี้ เศรษฐีสั่งให้บริวารเอาข้าวสารเมล็ดงามล้างน้ำทิ้งถึง
๗ ครั้ง จนบริสุทธิ์หมดมลทิน แล้วจึงหุงข้าวนั้น เพื่อบูชาพระไทร
ประกอบด้วยอาหารสังเวยอันโอชารสอีกมากมาย ล้วนจัดทำอย่างประณีตทั้งสิ้น
แล้วตัวท่านเศรษฐีตั้งจิตอธิษฐานขอลูกชายจากพระไทร
ฝ่ายพระไทรเห็นความเพียรพยายามของเศรษฐี
ก็เมตตา จึงไปเฝ้าพระอินทร์ทูลขอบุตรให้แก่เศรษฐี พระอินทร์ก็โปรดให้เทวบุตรนามว่า
ธรรมบาล จุติลงมาเกิดในครรภ์ภรรยาท่านเศรษฐี
เมื่อได้ลูกชายสมความปรารถนาเศรษฐีก็ชื่นชมโสมนัสยิ่งนักถึงกับปลูกปราสาท๗
ชั้นให้ลูกชายเศรษฐีมีชื่อว่าธรรมบาลกุมาร ปราสาทนั้นก็อยู่ใกล้ๆต้นไทรริมน้ำนั้นเอง
คงด้วยเห็นว่าบุตรที่ได้มานี้เป็นเพราะพระไทรประทานให้
เนื่องจากปราสาทของธรรมบาลกุมารอยู่ติดกับต้นไทร
ธรรมบาลก็เลยพลอยได้ใกล้ชิดกับบรรดาฝูงนกที่มาเกาะมากินผลไทร
จนถึงกับรู้ภาษานกในที่สุด และนอกจากภาษานกแล้วธรรมบาลก็ยังได้ร่ำเรียนไตรเพท
หรือพระเวททั้งสามอันเป็นวิชาความรู้สูงในสมัยนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่ออายุเพียง ๗
ขวบ และกลายเป็นผู้มีความสามารถบอกฤกษ์ยาม
และอธิบายข้อปัญหาขัดข้องแก่ชนทั้งหลายได้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งยิ่งนัก
ในชมพูทวีปสมัยนั้น
ผู้คนล้วนนับถือท้าวมหาพรหมและท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นผู้บอกมงคลแก่มนุษย์
เมื่อธรรมบาลมาตั้งตนเป็นอาจารย์บอกมงคลฤกษ์ยามอีกคนหนึ่ง ท้าวกบิลพรหมใคร่จะทดลองปัญญาของธรรมบาลว่าจะแก่กล้าสักเพียงใด
จึงตั้งปัญหา ๓ ข้อให้ธรรมบาลแก้ ถ้าธรรมบาลแก้ปัญหาได้ท้าวกบิลพรหมจะตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาล
แต่หากธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องตัดศีรษะของตนบูชาสังเวยท้าวกบิลพรหมเช่นกันปัญหานั้นมีว่า
เวลาเช้า สิริอยู่ที่ไหน
เวลากลางวัน สิริอยู่ที่ไหน
เวลาเย็น สิริอยู่ที่ไหน
ธรรมบาลขอเวลาคิดปัญหานี้ ๗
วัน แต่จนถึงวันสุดท้ายก็คิดไม่ออก
โทมนัสกลัดกลุ้มว่า ในวันรุ่งขึ้นนี้แล้ว จะต้องศีรษะออกสังเวยท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลทนอยู่ในปราสาทไม่ไหว จึงลงไปนอนรำพึงรำพันใต้ต้นตาลคู่ ขณะที่นอนอยู่นั้นเอง ก็ได้ยินเสียงนกอินทรีสองผัวเมียบนต้นตาล
คุยกันว่ารุ่งขึ้นจะไปหาอาหารที่ไหน นกตัวผู้บอกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องหาอาหาร พรุ่งนี้จะต้องได้กินเนื้อธรรมบาลแน่นอน
เพราะครบกำหนด ๗ วันที่ขอไว้กับกบิลพรหม เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องถูกตัดหัวแน่ นกตัวเมียจึงถามว่าปัญหานั้นว่าอะไร
นกตัวผู้ก็บอกให้ แถมเฉลยข้อแก้ปัญหาให้เสียอีกด้วย ธรรมบาลที่กำลังนอนอยู่ใต้ต้นตาล ก็พลอยได้ยินข้อเฉลยโดยตลอด
เมื่อถึงกำหนด ท้าวกบิลพรหมก็มาฟังข้อเฉลย
ธรรมบาลกุมารจึงไขว่า
“เวลาเช้าสิริอยู่ที่หน้าชนทั้งหลายจึงเอาน้ำลูบหน้าให้สะอาดปราศมลทิน เวลากลางวันสิริอยู่ที่อก
ชนทั้งหลายจึงเอาน้ำประพรมอก เวลาเย็นสิริอยู่ที่เท้า
ชนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้าก่อนนอน”
ท้าวกบิลพรหมยอมรับว่า ข้อไขปัญหานี้ถูกต้องทุกประการ
เป็นอันว่าท้าวกบิลพรหมจะต้องตัดเศียรของตนออกบูชาธรรมบาล
แต่ก่อนจะกระทำการดังกล่าว ท้าวกบิลพรหมได้เรียกธิดาทั้งเจ็ดของตน
ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ มาพร้อมหน้ากัน แล้วสั่งว่า
“พ่อต้องถูกตัดเศียรออกบูชาธรรมบาลตามสัญญา
แต่เศียรของพ่อนี้สำคัญนัก ถ้าวางไว้บนพื้นพิภพ จะเกิดไฟไหม้ทั้งแผ่นดิน ถ้าโยนขึ้นในอากาศ ฝนฟ้าจะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะเหือดแห้ง เจ้าจงเอาพานมาคอยรับเศียรพ่อนี้เถิด
เมื่อสั่งเสียแก่ธิดาแล้ว ท้าวกบิลพรหมก็ตัดเศียรของตนออกบูชาธรรมบาล
ธิดาองค์โตนามว่า ทุงษะ จึงเอาพานมารองรับเศียรของพระบิดาไว้แห่แหนประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ
แล้วจึงนำไปประดิษฐานไว้ในพรหมโลก นับแต่นั้นมาเมื่อครบรอบวันสงกรานต์ ธิดาทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหม อันได้แก่
นางทุงษะ นางรากษส นางโคราด นางกริณี นางมณฑา นางกิมิทา และนางมโหทรจะผลัดเปลี่ยนเวียนกันนำเศียรของท้าวกบิลพรหมออกแห่แหนรอบเขาพระสุเมรุปีละครั้งสืบมา
นิทานมหาสงกรานต์ที่เล่ากันมาแพร่หลายนี้
เกี่ยวข้องกับเปิงสงกรานต์ หรือสำเนียงมอญว่า เปิงซงกราน หรือตำนานข้าวแช่ของมอญ
ก็ตรงที่ว่า ข้าวที่เศรษฐีบิดาของธรรมบาล ตั้งพิธีหุงขึ้นสังเวยพระไทรนั้นเอง
คือที่มาของข้าวแช่ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ของมอญสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้
เพียงแต่ว่าชาวมอญในปัจจุบันคงมิได้ตั้งใจจะหุงข้าวเพื่อบวงสรวงสังเวยขอลูกจากพระไทรหรือเทวดาองค์ใด
ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นประเพณีที่ถือสืบกันมาว่า ในวันสงกรานต์จะต้องทำข้าวแช่ถวายพระ
ถือว่าเป็นอาหารสิริมงคล ข้าวแช่ที่หุงในโอกาสนี้ ไม่ใช่ข้าวแช่ธรรมดาสามัญอย่างที่เราหุงกินหรือที่ทำขึ้นขายทั่วไป
แต่มีกรรมวิธีพิเศษพิสดารกว่าธรรมดา เช่น ต้องใช้ข้าวเปลือกอย่างดีเยี่ยม ๗ กำ
ซ้อมข้าวนั้นให้ได้ ๗ ครั้ง แล้วซาวน้ำบริสุทธิ์ ๗ หน จึงจะนำมาหุง
แล้วตามที่ถือกันเป็นธรรมเนียมนั้นจะต้องหุงกลางแจ้ง ถ้าจะให้เต็มพิธีก็ต้องปักราชวัตรฉัตรธงด้วย
แต่ไม่มีหลักฐานกล่าวว่าผู้หุงจะต้องเป็นหญิงพรหมจารีเหมือนพิธีหุงข้าวทิพย์ของไทยหรือไม่
ในเทศกาลสงกรานต์ของมอญ
จะมีการนำข้าวแช่นี้ไปถวายพระที่วัดตลอดระยะเวลาสงกรานต์ทั้ง ๓ วัน
โดยจัดกระบวนแห่อย่างเอิกเกริก ผู้นำข้าวแช่เข้ากระบวนประกอบด้วยสาว ๆ มากมาย
แต่เมื่อไปถึงวัดแล้ว
บรรดาพวกผู้ชายหรือลูกศิษย์วัดจะเป็นผู้มารับข้าวแช่ไปถวายพระ
เพราะห้ามผู้หญิงเข้าไปวุ่นวายในเขตโบสถ์
นอกจากถวายข้าวแช่ ถวายพระแล้ว
ยังต้องจัดข้าวแช่สังเวยเทวดาเป็นเวลา ๓ วันด้วย ข้าวแช่ที่เหลืออยู่
อาจนำไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นสิริมงคลข้าวแช่นี้แหละที่มอญเรียกว่า
เปิงซงกราน หรือสงกรานต์
สุวรรณา
เกรียงไกรเพ็ชร์
ข้อคิดจากเรื่อง
เรื่องที่คัดมาให้อ่านข้างต้น เป็นตำนานประเพณีสงกรานต์
และการทำข้าวแช่ของชาวมอญ เรียกว่า ตำนานสงกรานต์ หรือ ตำนานเปิงซงกราน
ประเพณีสงกรานต์ได้แพร่เข้าสู่วัฒนธรรมไทย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย
ข้อคิดที่ได้จากตำนานเรื่องนี้คือ
ผู้มีปัญญา มีวิชาความรู้ และผู้ถือคำสัตย์มั่นคงเป็นผู้ที่ควรแก่การสรรเสริญ
ธรรมบาลกุมารเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีปัญญาสามารถใช้ปัญญาและวิชาที่มีพาตนให้รอดพ้นจากหายนะ
ท้าวกบิลพรหมก็เป็นผู้ที่น่ายกย่องในฐานะเป็นผู้รักษาสัตย์
เมื่อท้าวกบิลพรหมแพ้ประลองปัญญาแก่ธรรมบาลกุมาร ก็ได้สละชีพตัดเศียรของตนออกบูชาปัญญาของธรรมบาลกุมารตามที่ได้ให้สัตย์ไว้
นอกจากนี้ท้าวกบิลพรหมยังเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้มีน้ำใจนักกีฬา
รู้แพ้และยอมรับความพ่ายแพ้
จึงได้สั่งเสียธิดาทั้งเจ็ดให้จัดการเศียรของตนอย่างผู้ที่รับผิดชอบ
มิให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนหรือพินาศไปกับตนด้วย
คตินิยมเรื่องสิริ
เรื่องสิริซึ่งเป็นหัวข้อปริศนาของท้าวกบิลพรหมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ในประเทศที่มีอากาศร้อนอย่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การล้างหน้า
อาบน้ำและล้างเท้าในเวลาที่เหมาะสม ช่วยทำให้ร่างกายชุ่มชื่น ปริศนาที่ท้าวกบิลพรหมตั้งขึ้นคงเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมของคนในแถบนี้
และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีควรปฏิบัติตาม
ตำนานเรื่องนี้จึงสอนให้คนรู้จักรักษาความสะอาดร่างกายตามเวลาที่ควร
ความเชื่อเรื่องมีบุตรชายสืบตระกูล
ความเชื่อเรื่องครอบครัวจะต้องมีบุตรชายสืบตระกูล
เป็นความเชื่อที่ชาวมอญรับมาจากวัฒนธรรมพราหมณ์-ฮินดูของอินเดีย
คือเชื่อว่าคนที่สิ้นชีวิตจะต้องไปอดอยากอยู่ในปรโลก ถ้ามีบุตรชาย
บุตรชายจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตนละวิญญาณบรรพบุรุษอื่น ๆ ได้
ผู้ที่ไม่แต่งงานหรือแต่งงานแต่ไม่มีบุตรชายก็จะไม่มีผู้ทำบุญให้
จึงเป็นผู้ที่มีบาป
ความเชื่อเรื่องมีบุตรชายไว้สืบตระกูลในหลายวัฒนธรรม
สืบเนื่องมาแต่สังคมในสมัยโบราณเป็นสังคมเกษตรกรรมซึ่งต้องการแรงงานช่วยในการเพาะปลูก
ต้องการผู้ชายที่แข็งแรงมาทำงานรักษาผืนนาไร่ที่อุดมสมบูรณ์ และรักษาทรัพย์สมบัติอื่น
ๆ ไว้แก่ลูกหลานในภายหน้า
คำยืมภาษามอญ
ภาษาไทยมีคำยืมภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่มาก
และยังมีคำจำนวนไม่น้อยยืมมาจากภาษาเขมร ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ
นอกจากคำยืมเหล่านี้แล้ว ภาษาไทยยังรับคำจากภาษามอญ ภาษาพม่า ภาษาญวน ภาษามลายู
ภาษาโปรตุเกส ภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ มาใช้ในภาษาไทยด้วย แต่มีจำนวนไม่มากนัก
ในชั้นนี้จะกล่าวเฉพาะคำภาษามอญที่ภาษาไทยยืมมาใช้
เปิง
แปลว่า “ข้าว” ในคำว่า เปิงซงกราน หมายถึง ข้าวแช่เนื่องในเทศกาลสงกรานต์
กระทะ
หมายถึง ภาชนะใช้ทอดหรือผัดอาหาร
กรูด
ในคำว่า มะกรูด เป็นชื่อไม้ผล มีผลขนาดเล็ก คล้ายมะนาวแต่ผิวขรุขระ
ผิวของผลและใบมะกรูดใช้ปรุงอาหาร น้ำคั้นจากผลใช้สระผม
ขนมจีน
ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งข้าวเจ้า มีลักษณะเป็นเส้นสีขาว
คนภาคกลางนิยมกินกับน้ำยา น้ำพริก หรือแกงเขียวหวาน ในภาษามอญใช้ว่า ขนม ส่วนคำว่า
จีน แปลว่า สุก ภาษาไทยใช้คำ ๒ คำนี้รวมกันเป็น ขนมจีน ที่ใช้แต่คำว่า ขนม
ตามลำพังอย่างภาษามอญ ปรากฏในสำนวน ขนมพอสมน้ำยา
จัญไร
หมายถึง เป็นเสนียด เลวทราม ไม่เป็นสิริมงคล
ตะราง
หมายถึง ที่คุมขังผู้ทำความผิดอาญา
พลาย
แปลว่า “หนุ่ม” ในคำว่า ช้างพลาย หมายถึง ช้างตัวผู้
พลายแก้ว
หมายถึง ชายหนุ่มชื่อ แก้ว เป็นชื่อของขุนแผนก่อนรับราชการ
ละมี
ในคำว่า ฝาละมี หมายถึง ผาหม้อดินเผา
สวะ
คือ เศษไม้ เศษหญ้า เศษใบไม้ ที่ลอยไปมาในน้ำ
คำประพันธ์เรื่องรู้ตำนานสืบสนวัฒนธรรม. ออะไรครับ
ตอบลบ